Taobao ปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาใช้ชีวิตปกติในวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อเซฟตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัย และป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) มากขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะคลี่คลายไปบ้างแล้วก็ตาม
ความปกติในวิถีใหม่นั้น ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจ และองค์กรทุกภาคส่วน แม้แต่เรื่องของการรักษาโรค หรือการให้บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาแพทย์ การวินิจฉัย การรักษาโรค รวมถึงการออกใบสั่งยาออนไลน์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยาผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ
การออกใบสั่งยาออนไลน์ (Online Prescription) ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือเป็นแอปพลิเคชันทางการแพทย์ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยและตอบโต้กันได้แบบเรียลไทม์ เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่าน Video Conference ปัจจุบันเปิดให้บริการในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ แอฟริกาใต้ อินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 เป็นอันดับต้นๆ)
Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการรักษาออนไลน์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อคุณปรึกษาวินิจฉัยกับแพทย์เรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับใบสั่งยาออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อนำไปซื้อยาที่ร้านขายยาบนแอปฯ หรือร้านขายยาทั่วไป ทั้งยังมีระบบตรวจสอบ (Check & Balance) ระหว่างแพทย์ผู้สั่งยาออนไลน์ – เภสัชกรผู้มีความเชี่ยวชาญในการจ่ายยา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้บริการได้รับยาที่ถูกต้อง เป็นการลดระยะเวลารับการรักษาในโรงพยาบาล และคนไข้ไม่ต้องรอรับยานานอีกต่อไป
สำหรับ Telemedicine ในเมืองไทย กสทช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยในระยะเริ่มต้นจะมี 8 จังหวัดนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และ โรงพยาบาลประจำจังหวัด 8 แห่ง รวมถึงศูนย์เฉพาะทางโรคตา ศูนย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง และในอนาคตจะขยายไปสู่พื้นที่ชนบทอื่นทั่วประเทศ
» คำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อซื้อยาออนไลน์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการซื้อยาออนไลน์ตามใบสั่งแพทย์ จะสะดวกต่อคนไข้ ประหยัดเวลา ประหยัดเงินได้มากกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย โดยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้เบื้องต้น
⇨ ยาที่ขายทางออนไลน์ ไม่ควรมีราคาถูกกว่าร้านขายยาทั่วไป ในกรณีที่มีราคาถูกกว่ามาก อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความไม่ปลอดภัย และน่าสงสัยว่าเป็นยาที่ได้มาตรฐานหรือไม่
⇨ อ่านรีวิว และศึกษาข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์หรือเคยซื้อยาจากร้านขายยาออนไลน์นี้มาก่อน ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วค่อยตัดสินใจ
⇨ ผลิตภัณฑ์ยา ต้องเป็นยาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น
⇨ ใบสั่งยา จะเป็นการบังคับให้ร้านขายยาจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
⇨ ให้ข้อมูลติดต่อของบุคคลหรือผู้เชี่ยวชาญที่คุณสามารถพูดคุยด้วยได้ในกรณีที่คุณมีปัญหาหรือข้อสงสัย
อย่างไรก็ตาม การซื้อยาจากร้านขายยาออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง โดยร้านขายยาที่ไม่มีใบอนุญาต อาจสงสัยได้ว่าเป็น สต็อกยาที่เลิกผลิตหรือยาที่หมดอายุแล้ว ยาที่ผลิตในโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตราย ตลอดจนอาจเป็นยาที่จัดเก็บอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูล :
https://www.moneycrashers.com/online-prescriptions-tips-on-staying-safe/
https://www.medicinenet.com/drugs_buying_prescription_drugs_online_safely/views.htm